การปฏิบัติตนในระหว่างตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่ ทราบได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์ วิธีดูแลตนเอง การไปตรวจ วัคซีน สุขภาพเด็กในครรภ์ สรุปอย่างง่ายเพื่อคุณแม่มือใหม่ครับ
ท่านทราบได้อย่างไรว่าตัวเองตั้งครรภ์ ?
ในการปฏิบัติตนเองให้ถูกต้องระหว่างที่ตั้งครรภ์นั้นจำเป็นมาก สำคัญมากที่สุด นั่นก็เพราะท่านที่กำลังตังครรภ์จะได้มีความสุข มีสุขภาพอนามัยที่ดีไม่เสื่อมโทรม ร่างกายจะต้องแข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพดี ทารกที่คลอกออกมาก็จะมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์สมดังปรารถนาของผู้เป็นมารดาและบิดา คราวนี้ท่านจะต้องพิจารณาดูว่า ตนเองกำลังตั้งครรภ์หรือไม่ มีวิธีสังเกตตัวเองได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1. ประจำเดือนขาดหายไปดื้อๆ เมื่อถึงกำหนดเวลามาก็ไม่มา นับว่าเป็นอาการเบื้องต้นของสตรีที่ตั้งครรภ์ จุดนี้สังเกตเอาไว้ก่อน
2. มีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้น อาการแพ้ท้องนั้นสตรีที่ตั้งครรภ์จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ น้ำลายก็ออกมามากกว่าปกติ อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในเช้าหรือตื่นนอนใหม่ๆ บางรายก็เกิดมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เกี่ยวกับอาการทางประสาท เป็นต้นว่า โกรธง่าย ใจน้อย หงุดหงิดคิดมาก
3. มีอาการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เพราะหัวนมจะมีสีคล้ำเกิดขึ้น เต้านมโตขึ้น
4. ปัสสาวะบ่อยครั้งขึ้นจนผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยๆ แต่ไม่มีอาการปวดแสบหรือเกิด อาการขัดเบา ถือว่าเป็นอาการที่เป็นปกติของสตรีมีครรภ์ทั่วไป ไม่ผิดปกติอย่างไร อาการนี้พบได้เสมอ เกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นแล้วไปเบียดเอากระเพาะปัสสาวะนั่นเอง
5. มดลูกจะบีบตัวเป็นบางครั้ง มักจะสังเกตพบเมื่อครรภ์ผ่านไป 4 เดือนแล้ว จะรู้สึกว่ามี ก้อนนูนบริเวณหัวหน่าว มักพบในตอนเช้า
6. ทารกจะดิ้นได้ เพราะทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่มีชีวิต มีลักษณะลอยอยู่ในถุงน้ำใน มดลูก ทารกจะมีอาการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วครรภ์แรกนั้นผู้เป็นมารดาจะรู้สึกว่าเด็กดิ้นเมื่อตั้งครรภ์ไปได้ประมาณ 4 เดือนครึ่ง ถึง 5 เดือน ส่วนครรภ์หลังๆ เนื่องจากมารดามีความเคยชินแล้ว อาจจะสังเกตว่าทารกในครรภ์ดิ้นในราวการตั้งครรภ์เดือนที่ 4 เท่านั้น ในระหว่างที่ทารกในครรภ์ดิ้นครั้งแรกนั้นก็มีความสำคัญในการช่วยกำหนดระยะเวลาคลอดของท่านได้ โดยเฉพาะในรายที่จำเดือนแรกที่หมดประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้
ท่านควรฝากครรภ์เมื่อไรที่ไหน ? ทำไมจึงจะต้องฝากครรภ์ ?
การฝากครรภ์นั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ที่จะเป็นมารดา นับว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์แก่แม่และเด็กจริงๆ แต่ว่า เมื่อไรท่านจึงต้องไปฝากครรภ์ โดยทั่วไปแล้วแพทย์แนะนำให้ผู้ที่จะเป็นมารดาไปฝากครรภ์ได้ทันทีที่คิดหรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์
บางท่านอาจจะคิดว่าทำไมจะต้องรีบร้อนไปฝากอะไรกันนักหนา เพิ่งเริ่มต้น เพิ่งจะทราบ เพราะเป็นระยะแรกเริ่มแท้ๆ น่าจะไปฝากครรภ์ทีหลังก็ได้ หรือไปฝากจวนๆ ที่จะคลอดก็ไม่น่าเกิดปัญหาอะไรเลย ไม่ต้องเสียเวลาไปหลายครั้งหลายหนด้วย
ความจริงแล้วความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง โดยมากแล้วเราจะเห็นได้ว่าที่แผนกตรวจคนไข้นอกนั้น ผู้ที่จะเป็นมารดามักมาฝากครรภ์เกินระยะ 6 เดือนไปแล้วมากมาย ซึ่งส่วนมากยังไม่ทราบถึงประโยชน์ของการฝากครรภ์อย่างแท้จริง
ความสำคัญของการฝากครรภ์
เรื่องนี้จะต้องให้ผู้เป็นมารดาทราบเอาไว้ เพราะมีความสำคัญจริงๆ คือ
1. แพทย์จะได้ทำการตรวจและให้ความแน่นอนว่าการตั้งครรภ์ของท่านนั้นเป็นปกติหรือ ผิดปกติ นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นมารดาได้รับคำแนะนำ การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองให้ดี ถูกต้อง ให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากโรคแรกซ้อนต่างๆ ในขณะที่ตั้งครรภ์ ให้ความปลอดภัยเกี่ยวกับการคลอด ตลอดจนการรู้จักดูแลรักษาตัวเองภายหลังคลอดอีกด้วย อีกทั้งผู้ที่เป็นมารดาก็จะมีความใกล้ชิดกับแพทย์ พยาบาล มีความเชื่อมั่น อีกทั้งมีโอกาสที่จะสอบถามขอคำแนะนำในสิ่งที่ตนเองสงสัยข้องใจจากแพทย์และพยาบาลหรือผดุงครรภ์ที่ดูแลอยู่
2. ในการตรวจครรภ์ครั้งแรกนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยทั่วไปอีกด้วย เพื่อ ตรวจดูว่าผู้ที่จะเป็นมารดานั้นมีโรคอะไรที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือต่อทารกในครรภ์บ้าง หากว่ามีก็จะได้ทำการรักษาเสียให้หายขาดในระยะแรกๆ เป็นต้นว่า บางทีก็ตรวจพบว่าเป็นเป็นโรคหัวใจแต่ทว่าคนไข้ก็ยังไม่มีอาการอะไรออกมาให้เห็น โรคพวกนี้ถ้าปล่อยเอาไว้ไม่รักษาเสียแต่ในระยะแรกอาจจะเกิดหัวใจวายได้เมื่อครรภ์แก่ใกล้คลอด ในระยะคลอดหรือหลังคลอดก็ได้
3. การตรวจทางห้องทดลองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก จำเป็นอย่างไรโปรดพิจารณาดูได้ ดัง ต่อไปนี้
ก. การตรวจโลหิต แพทย์จะได้ทราบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โรคที่แพทย์พบบ่อยๆ ก็ คือ โรคโลหิตจาง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกส่วน หรือมีสาเหตุมาจากโรคเลือดอย่างอื่นๆ หากพบเสียแต่แรกก็จะได้ทำการรักษาผู้ที่จะเป็นมารดา ได้ทันเวลาก่อนที่จะย่างเข้าสู่ระยะคลอด
ข. ตรวจเลือดเพื่อจะดูว่าผู้ที่เป็นมารดานี้เป็น กามโรคชนิดใดหรือไม่อย่างไร? หากมีอยู่ เช่น ซิฟิลิส โกโนเรีย ก็จะได้ทำการรักษาให้หายเสียก่อน เพื่อป้องกันโรคมิให้แพร่เข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้
ค. การตรวจปัสสาวะ อาการผิดปกติของการตั้งครรภ์บางอย่างก็ตรวจพบได้ด้วยการหา “ไข่ขาว” ในปัสสาวะ นอกจากนั้นการตรวจปัสสาวะก็จะทราบได้ว่ามีอาการผิดปกติในทางเดินปัสสาวะด้วยหรือไม่ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ซึ่งมักพบได้บ่อยๆ ในระยะตั้งครรภ์ การตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะก็เป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องตรวจให้แน่ว่า ผู้ที่จะเป็นมารดานี้ป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่ ถ้าป่วยก็จะต้องได้รับการเยียวยารักษาต่อไปอีก หลังจากการตรวจครั้งแรกผ่านไปแล้ว แพทย์ก็จะนัดให้ผู้ที่จะเป็นมารดาไปตรวจอีกเป็นระยะๆ ไป ในรายที่ครรภ์อ่อนๆ ก็จะต้องได้รับการตรวจทุกๆ 4 – 6 สัปดาห์ ในระยะหลังๆ ของการตั้งครรภ์ก็จะนัดให้ไปตรวจทุก 1 – 3 สัปดาห์ แล้วแต่ความจำเป็นที่แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป การไปตรวจครรภ์ตามนัดนั้น ขอให้ผู้ที่จะเป็นมารดาเข้าใจว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าไม่สามารถไปตามนัดได้ก็รีบไปในทันทีที่มีเวลา ในการตรวจครรภ์ในระยะนี้ก็เพื่อจะได้ทราบถึงภาวะของการตั้งครรภ์ เช่น ทารกมีความเจริญเติบโตตามกำหนดหรือไม่ อย่างไร ทารกอยู่ในท่าที่เป็นปกติหรือเปล่า หรือมีอาการของโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง โรคแทรกซ้อนบางอย่างนั้นบางชนิดก็เกิดในระยะหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งหากได้รับการรักษา ป้องกัน ก็จะทำให้การคลอดดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยทั้งมารดาและทารกด้วย
ฝากครรภ์ที่ไหน? ในการฝากครรภ์นั้น ผู้ที่จะเป็นมารดาควรจะไปฝากที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย แพทย์จะได้ทำประวัติ แนะนำวิธีปฏิบัติตนเองและตรวจวินิจฉัยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นควรทำอย่างไร หรือไม่ควรทำอะไร อะไรที่ควรงดเว้นเด็ดขาด อีกประการหนึ่งแพทย์ก็จะได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ด้วย และมีการกำหนดวันคลอดให้อีก
การคลอดบุตรที่โรงพยาบาล หรือที่สถานีอนามัยดีอย่างไร ?
เรื่องนี้ผู้ที่จะเป็นมารดาจะต้องทราบอยู่แล้วว่า การคลอดที่ถูกวิธีนั้นโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย จะเป็นสถานที่ ช่วยให้ท่านคลอดบุตรได้ได้โดยปลอดภัยที่สุด ถ้าการคลอดไม่เป็นไปตามปกติ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แพทย์ก็ยังมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยตลอดจนเทคนิคต่างๆ ช่วยเหลือผู้ที่จะเป็นมารดาและทารกได้อีก เป็นต้นว่า
1. การใช้เครื่องมือช่วยการคลอด มี คีมหรือเครื่องดูด
2. วิธีการผ่าตัดเอาทารกออกทางหน้าท้อง
ท่านอย่าลืมว่า ในปัจจุบันนี้ นานๆ ครั้งจะมีผู้ที่เสียชีวิตจากการคลอดสักรายหนึ่ง ซึ่งส่วน มากแล้วมักจะเป็นผู้ที่มิได้มาฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยหรือบางทีก็มาโรงพยาบาลหรือมาสถานีอนามัยก็มีอาการเพียบหนักมาแล้ว แพทย์สุดที่จะเยียวยาแก้ไขได้ นี่เอง ความจำเป็นในการฝากครรภ์จึงมีความสำคัญมากทีเดียว
อาหารของผู้ที่จะเป็นมารดา จะต้องมีอะไรบ้าง สำคัญอย่างไร ?
เรื่องอาหารนั้นสำคัญมากไม่ว่าใครก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังจะเป็นมารดานั้น พึงระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะต้องมีอาหารที่ดี มีประโยชน์ และควรงดอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์และมีโทษแก่ตนเองและทารกในครรภ์ด้วย
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำว่า อาหารของผู้ที่จะเป็นมารดานั้นจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ คือรับประทานอาหารมากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าสตรีมีครรภ์นั้นต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นสำหรับตัวเองและทารก
ฉะนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์จะต้องรับประทานอาหารให้มากพอกับความต้องการ โดยรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ทุกๆ วัน เพื่อให้อาหารที่รับ ประทานเข้าไปบำรุงร่างกายผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ให้แข็งแรง สุขภาพดี การคลอดก็จะง่ายขึ้น อีกประการหนึ่งเพื่อเอาอาหารเข้าไปบำรุงทารกให้สมบูรณ์ เพื่อ สร้างน้ำนมให้เพียงพอสำหรับทารกที่จะเกิดมา คราวนี้มาลองพิจารณาดูอาหารของสตรีมีครรภ์กันต่อไปบ้างมีอะไร
ชนิดของอาหารที่ต้องรับประทาน
อาหารหมู่ที่ 1 น้ำนม ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา ตับ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว อาหารพวกนี้จะเข้าเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกายได้เป็นอย่างดี
อาหารหมู่ที่ 2 ข้าวสวย ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน น้ำตาล อาหารพวกนี้จะเข้าไปสร้างพลังงานแก่ร่างกาย
อาหารหมู่ที่ 3 ผักใบเขียวทุกชนิด มะเขือเทศ ฟักทอง และผักชนิดต่างๆ อาหารพวกนี้จะเข้าไปควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ
อาหารหมู่ที่ 4 ผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง อาหารพวกนี้จะเข้าไปควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ
อาหารหมู่ที่ 5 น้ำมันจากพืชและสัตว์ เช่น น้ำมันหมู น้ำกะทิ อาหารพวกนี้จะให้กำลังงานแก่ร่างกาย
นอกจากนี้ผู้ที่กำลังจะเป็นมารดาจะต้องดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว ยกเว้น กรณีที่แพทย์แนะนำเป็นอย่างอื่น มีการขับถ่ายทุกวันโดยเฉพาะเวลาเช้า เพื่อสุขภาพร่างกายที่เป็นปกติเสมอ
อาหารและสิ่งที่ควรงดเว้นเด็ดขาด
ความจริงแล้วอาหารของผู้ที่จะเป็นมารดารับประทานไม่มีอะไรเป็นของแสลง สมควรรับประทานเพื่อการผลิตน้ำนมของท่านจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ คนโบราณที่มี ความเชื่อว่ารับประทานไข่ไก่ไม่ได้ แสลง รับประทานเนื้อไก่ก็แสลง จะต้องรับประทานข้าวกับเกลือเท่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียแล้ว
แต่สิ่งที่ควรงดเว้นเด็ดขาดก็เห็นจะเป็นการดื่มสุรา เบียร์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยไม่ดีแน่นอน เป็นผลเสียแก่ร่างกายของท่านเอง รวมทั้งทารกในครรภ์ น้ำชา กาแฟ ก็ไม่สมควรดื่ม ไม่มีประโยชน์อะไรกับผู้ที่จะเป็นมารดาเลย ควรดื่มน้ำเปล่า น้ำผลไม้จะดีที่สุด
บุหรี่ไม่ควรสูบ ไม่เกิดประโยชน์อะไรมีแต่โทษทั้งผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ของตนเอง พิษของบุหรี่นั้นมีมากมาย จะเข้าไปยับยั้งความเจริญเติบโต. ของทารกให้ช้าลง เซลล์ต่างๆ จะไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทารกคลอดออกมาก็ตัวเล็กผิดปกติด้วย ดีไม่ดีเกิดพิการก็จะสร้างความเสียใจให้แก่ท่านทันที
สตรีมีครรภ์ควรรับประทานอย่างไร ?
ในระยะ 3 เดือนแรกให้อาหารปกติ ในระยะหลังจึงควรเพิ่มอาหาร ควรบริโภคให้เหมาะกับน้ำหนักตัวที่เพิ่ม คือ
เดือนที่ 4 เพิ่ม 10% เดือนที่ 5 เพิ่ม 18% และเป็น 23% เมื่อคลอด โปรตีนควรเพิ่มมากกว่า 40% ของที่เคยได้รับปกติ คาร์โบไฮเดรทและไขมัน จัดให้พอเหมาะกับแรงงาน ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
วิตามิน เอ บี ซี และ ดี และเกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไอโอดีนเพิ่มขึ้นตามส่วน ควรได้จากอาหาร ยกเว้นแต่ถ้ามารดาไม่สามารถกินอาหารได้ ก็จำต้องให้ยา ที่มีวิตามินและเกลือแร่ดังกล่าว หญิงมีครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือที่เรียกว่าแพ้ท้อง ระยะนี้ไม่ควรรับประทานอาหารพวกไขมัน เพราะจะทำ ให้คลื่นไส้อาเจียน ปกติตอนกลางวันอาการคลื่นไส้มักจะหายไป ดังนั้นมารดาอาจจะกินอาหารได้ตอนบ่ายๆ ตอนเย็น และก่อนนอน หากกรณีมารดากินอาหารคาวไม่ได้ ในระยะแพ้ท้อง ให้กินน้ำถั่วเหลืองหรือเต้าหู้แทน ถ้ากินนมได้ยิ่งดี
ในสตรีที่เป็นแม่นม ต้องใช้เพิ่มในการหลั่งน้ำนม ดังนั้นจึงควรเพิ่มอาหารให้อีกไม่น้อยกว่า 600 แคลอรี่ และโปรตีนต้องไม่ต่ำกว่า 15%
ต้องปรึกษาแพทย์อย่างรีบด่วนเมื่อไร ?
1. เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนออกมาอย่างแรง และเป็นอยู่เป็นเวลานาน
2. มีเลือดออกมาทางช่องคลอด แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม จะต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
3. มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นอยู่นานแล้วก็ยังปวดไม่หาย
4. มีอาการปวดบวมตามใบหน้า มือ เท้า รวมทั้งข้อเท้า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเกิดมีเกลือ คั่งอยู่ในร่างกายของท่านก็ได้ เมื่อแพทย์แนะนำให้ลดอาหารที่มีรสเค็มลง เช่น ลดน้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว ซ็อสต่างๆ ก็จะต้องลดลงตามคำแนะนำ ไม่เช่นนั้นก็เกิดผลเสียตามมาอีกเป็นอันตรายได้ ความดันโลหิตจะสูงขึ้นได้ ไตก็ทำงาน ผิดปกติได้ แพทย์เรียกว่า “ครรภ์เป็นพิษ” เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่สตรีตั้งครรภ์เสียชีวิตลงได้รวมทั้งในระยะคลอดหรือหลังคลอดด้วย
5. มีอาการปวดศีรษะมาก ปวดอยู่นานๆ ก็ไม่หายสักที
6. ตามัวมองอะไรก็เป็นจุดเป็นดวงไปหมด
7. ปัสสาวะน้อยลง หรือเวลาขับถ่ายปัสสาวะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนหรือขัดเวลา ถ่ายปัสสาวะ
8. มีอาการไข้ หนาวสั่น
9. ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงหรือเฉยไม่ดิ้นเอาเลย
10. เกิดอาการถุงน้ำแตก มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด สิ่งเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยรีบด่วนทั้งนั้น เพราะบางทีอาจจะเกิดอันตรายรุนแรงได้
ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
ผู้ที่จะเป็นมารดาทั้งหลายนั้น จำเป็นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนบางอย่างเพื่อความปลอดภัยของท่านเสมอ วัคซีนที่จะฉีดนั้น แพทย์จะฉีดให้ท่าน รวม 2 ครั้ง เป็นวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
ฉีดครั้งแรกในตอนที่ท่านไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย
ฉีดครั้งที่ 2 เมื่อก่อนกำหนดคลอด 1 เดือน เป็นอันว่าครบถ้วน เพื่อป้องกันบาดทะยักที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ในสมัยโบราณนั้น “หมาตำแย” ได้ทำคลอดด้วยความสกปรก ไม่มีการระมัดระวังในเรื่องความสะอาดนัก บางทีผู้เป็นมารดาได้รับเชื้อบาดทะยักเข้าไปเวลาคลอดก็มากมาย ทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นได้ในที่สุด เพราะบาดทะยักนั่นเอง บางทีทารกก็เสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเชื้อยาดทะยักเข้าไปทางบาดแผลที่สายสะดือ เพราะ “หมอตำแย” เอาไม้ไผ่ตัดสายสะดือทารกนั่นเอง เชื้อบาดทะยัก หรือ “เตตานัส” ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก บาดทะยักในทารกนั้นได้ทำให้ทารกที่เกิดมาตายไปแล้วไม่ใช่น้อย มักจะเสียชีวิตหลังคลอดเพียง 4 – 14 วันเท่านั้นเอง ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันเอาไว้เช่นนี้ก็เป็นประโยชน์มาก เป็นการป้องกันเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
ยาบำรุงเลือด จำเป็นสำหรับสตรีมีครรภ์
สตรีมีครรภ์ทุกท่านจะต้องคิดถึงเรื่องนี้อีกเรื่องหนึ่ง สมัยก่อนอาจจะยังไม่มีใครใช้ แต่สมัยนี้แพทย์แนะนำให้สตรีมีครรภ์รับประทานยาบำรุงเลือด นอกจากสตรีมีครรภ์จะต้องรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงอาหารที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ อีกด้วย
สำหรับยาวิตามินที่สตรีมีครรภ์ได้รับจากโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยเมื่อฝากครรภ์นั้น จำเป็นมากสำหรับบำรุงเลือดให้ผู้ที่จะเป็นมารดาหรือสตรีมีครรภ์มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง คลอดง่าย เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการตกเลือดในระหว่างคลอดอีกด้วย
การรับประทานยาบำรุงเลือด ให้รับประทานยา 1 -2 เม็ด หลังอาหารเช้าหรือก่อนนอน ต่อจากนั้นก็พักผ่อนให้เพียงพอ ไปพบแพทย์ตามนัด ท่านก็มั่นใจได้ว่า การคลอดของท่านนั้นสมบูรณ์แบบและปลอดภัยที่สุดแน่นอน ไม่มีปัญหา อุปสรรค ใดๆ เกิดขึ้นเลย
ระวังให้ดี โรคต่างๆ ที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์
บางทีผู้ที่กำลังจะเป็นมารดาหรือสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ก็เคยเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ที่สำคัญมาก่อน นับว่าเป็นอันตรายแก่การตั้งครรภ์มาก เพราะเมื่อตั้งครรภ์แล้วมักเป็นปัญหาแก่สตรีมีครรภ์เอง รวมทั้งทารกในครรภ์อีกด้วย โรคที่สำคัญและมีอันตรายมากได้แก่
1. โรคความดันโลหิตสูง
2. โรคซีด
3. โรควัณโรคปอด
4. โรคไตเรื้อรัง
5. โรคเบาหวาน
6. โรคหัวใจ
7. โรคหืด
8. โรคหัดเยอรมัน
โรคเหล่านี้จะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้ ในขณะที่คลอดก็ได้ หรือหลัง คลอดก็ได้อีก ซึ่งอาจจะมีผลเสียต่อทารกในครรภ์ด้วย
โรคที่สตรีมีครรภ์เคยเป็นในการตั้งครรภ์ก่อนๆ
ระวังสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยคือ แท้งมาก่อน มีลูกยาก คลอดด้วยการผ่าท้องเอาทารกออก เจ็บท้องนานมากกว่า 24 ชั่วโมง คลอดยาก ทารกตายในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดเลยกำหนด ตกเลือดหลังคลอด
หากมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่สตรีมีครรภ์ดังกล่าว แพทย์ก็จะต้องศึกษาผลจากการคลอดในครั้งก่อนๆ เพื่อทำการช่วยเหลือในการคลอดครั้งนี้ให้ดีที่สุด
โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
โรคแทรกเหล่านี้ คือ
1. อาการตกเลือด
2. โรคพิษแห่งครรภ์
3. ท้องแฝด
4. เจ็บท้องก่อนกำหนด
5. น้ำเดินก่อนเจ็บท้อง
6. ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ
7. ทารกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย
8. ใช้ยารักษาโรคบางอย่างในระหว่างตั้งครรภ์
9. โรคซีด
10. ตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิส
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าสตรีมีครรภ์เป็นโรคพวกนี้แล้วก็จะรีบทำการเยียวยารักษาทันที แพทย์อาจจะนัดมาพบเพื่อตรวจรักษาในทุกๆ 1 หรือ 2 อาทิตย์ ก็ได้ จนกว่าโรคจะหายขาดไป
อัพเดตความดันโลหิตสูง Hypertension (2024) ภาค 1. ความรู้เบื้องต้น
10 อันดับความก้าวหน้าหรือ medical breakthrough ทางการแพทย์ ประจำปี 2550 เรื่องที่ 3 วัคซีนไข้หวัดนก ตัวแรก ออกแล้ว ในปี 2007 ความกังวลว่า…
หลายคนคงเคยมีคำถาม จะขลิบหนังหุ้มปลาย อย่างไร เมื่อไร และทำไม โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ที่มีลูกชาย อาจจะเคยมีแพทย์แนะนำให้ ขลิบหนังหุ้มปลายตั้งแต่เด็กยังเล็กๆเลย ซึ่งแน่นอน ว่าต้องเกิดความกังวลในใจคุณแน่ๆ (more…)
ข้อมูลจาก health day และศูนย์ข้อมูลโรคไตของสหรัฐ ได้ให้คำแนะนำสำหรับป้องกันการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะและไต ดังนี้ ดื่มน้ำวันละมากๆ ห้ามกลั้นปัสสาวะนานๆ อาบน้ำโดยใช้การตักอาบหรือฝักบัว ดีกว่าใช้อ่างอาบน้ำ (more…)
การปลูกฝังสมาธิในเด็ก เป็นการปูพื้นความสามารถในการเรียนรู้ให้เด็ก ผมมีบทความดีๆจาก ศูนย์จินตคณิต http://www.imaxbrain.com พัทยา ที่นำมาจากการสัมนาเรื่อง สมาธิ คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดี มาฝากครับ (more…)