ไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดจากไวรัส ซึ่งปกติในคนแข็งแรง มักจะหายเองได้ แต่ในระยะหลัง การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อลดระยะเวลาที่เป็น ลดความรุนแรง และลดการแพร่ระบาด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการหนัก หรือร่างกายอ่อนแอ หรือผู้ที่ยืนยันชัดว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
ผลดีของการให้ยาต้านไวรัสในระยะแรก
- ลดระยะเวลาของการป่วย ทำให้กลับมาเรียน หรือทำงานได้เร็วขึ้น
- ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรก ที่สำคัญและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต คือ ปอดอักเสบ โดยเฉพาะ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ
- ลดอัตราการเสียชีวิตในคนไข้ที่จำเป็นต้องนอน รพ.
ชนิดของยาต้านไวรัส ที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่
- Tamiflu (Oseltamivir )ยากิน
- Relenza (Zanamivir) ยาพ่นจมูก
- Rapivab (Peramivir)ยาฉีด
จะให้เมื่อใด
เมื่อตัดสินใจให้ยาต้านไวรัส ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ภายใน 48 ชม. หรือให้เร็วที่สุดหลังจากเริ่มมีอาการ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าให้หลังจากนั้นก็ยังมีประโยชน์ในการให้
ใครบ้างที่จำเป็นต้องได้ยาต้านไวรัส
โดยทั่วๆไป เราจะตัดสินใจให้ในคนไข้ที่ นอน รพ. หรือมีอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบ และหรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคแทรกได้ง่าย ซึ่งได้แก่
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี
- คนไข้ที่มีประวัติโรคประจำตัวอันได้แก่
- โรคปอดเรื้อรัง รวมถึง หอบหืด
- โรคหัวใจ ยกเว้น ความดันสูง
- โรคไต
- โรคตับ
- โรคเลือด
- โรคทางระบบประสาท เช่น ลมชัก อ่อนแรง อัมพฤกษ์ โรคของไขสันหลังและกล้ามเนื้อ cerebral palsy
- คนไข้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และมีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เอดส์
- คนท้อง หรือหลังคลอดไม่เกินสองสัปดาห์
- ผู้อยู่ใน nursing care หรือ สถานรับเลี้ยงที่มีคนอยู่มากๆ