500x500_practice-patient-care_health-issues_skin-disease

พิษปลาปักเป้า แมงดาทะเล tetrodotoxin

พิษปลาปักเป้า ที่ถือเป็น สารชีวพิษ หรือ biotoxin ชนิดหนึ่งชื่อ tetrodotoxin พบได้ประปราย และพบได้จากแมงดาถ้วย ซึ่งเมืองแถบชายทะเลจะเจอได้บ่อย

tetrodotoxin เป็นสารพิษที่ทนต่อความร้อน ออกฤทธิ์โดยปิดกั้น sodium channel ที่ผนังเซล ทำให้การสื่อประสาทเสียแบบชั่วคราว
สารพิษนี้ พบในปลาปักเป้า และแมงดาถ้วย แต่ไม่พบในแมงดาจาน นอกจากนี้ยังอาจพบได้ใน สัตว์น้ำ หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางพันธ์ เช่น กบ ดาวทะเล หอย ปลาหมึกบลูริง จากการศึกษาพบว่า แบคทีเรียที่อาศัยในสัตว์เหล่านี้ เป็นตัวการผลิตสารพิษ

อาการ
แบ่งเป็น 4 ระยะตามความรุนแรง
มีอาการชารอบปาก เกือบ 100% ของคนไข้รายงานอาการชารอบปาก เป็นอาการแรกต่อมาจะชาปลายมือปลายเท้า
อาการชามากขึ้นและมีแขนขาอ่อนแรง
พูดไม่ชัด อ่อนแรงมากขึ้น กลืนลำบาก เริ่มหายใจลำบาก
หายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน เริ่มหายใจล้มเหลว หมดสติ และสมองขาดออกซิเจนถ้าช่วยไม่ทันอาจตายได้
จากการศึกษาส่วนใหญ่จากแถบชายทะเล (แมงดาถ้วย) พบว่า อาการสำคัญคือ ชารอบปาก คลื่นไส้ ชามือเท้า ความดันเลือดเปลี่ยนแปลง
จากการศึกษาพบว่า มักพบประปราย หรือเป็นฤดูกาล คือพบผู้ป่วยได้รับพิษ มาจำนวนมากในเวลาใกล้ๆกัน ส่วนใหญ่ช่วง ธค. ถึง มีค.
การเกิดพิษจากการกินไข่แมงดา หรือปลาปักเป้า ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ต้องรับเข้าเป็นผู้ป่วยในทุกรายเพราะอาจมีการพัฒนาเปลี่ยนเป็นหายใจล้มเหลวได้ภายใน 30 นาที ถ้ามีการรักษาที่ดี ใส่เครื่องช่วยหายใจทัน ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้
สาเหตุที่ยังมีการพบผู้ป่วยสารพิษนี้ เนื่องจาก การยังนิยมรับประทานไข่แมงดา เพราะรสชาติดี บางรายเชื่อว่า สามารถทำลายพิษได้โดยการทำให้ร้อน ซึ่งผิด บางคนเคยกินมาก่อนไม่เป็นอันตรายเลยเชื่อว่ากินได้ เป็นต้น

Share

Comments are closed.