headache

กลไกการปวดหัวจากไมเกรน สารสื่อประสาท ก้านสมองควบคุมผิดปกติ อัพเดต2020

ปวดศีรษะไมเกรน Migraine

ไมเกรน(migraine headache)เป็นอาการปวดศีรษะที่เรารู้จักกันดี ใครไม่เคยเป็นบ้าง? ความรู้จากหลายทศวรรษที่ผ่านมาบอกเราว่า ไมเกรน เกิดจากการหลั่งสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ ทำให้เส้นเลือดในสมอง คลาย และหดตัวสลับไปมา เกิดการอักเสบ และปวดขึ้น

เมื่อเร็วๆนี้ จากการศึกษาวิจัยใหม่ๆ พบว่า แม้ว่าที่จริงแล้ว ไมเกรน น่าจะเกิดจากปัญหาของ ก้านสมอง (brainstem) ที่อยู่ภายใน ที่เป็นตัวควบคุม การบีบและขยายของเส้นเลือด และการควบคุมการตอบสนองต่อความรู้สึกเจ็บปวด อาการปวดหัวไมเกรนส่วนใหญ่จะเกิดจากการมีตัวกระตุ้น (triggers) ที่เราพบบ่อยๆ เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ความกดอากาศ ความชื้น
  • อาหารบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ วานิลลา กล้วยหอมฯลฯ
  • การอดกาแฟ (จากที่เคยดื่ม)
  • การอดนอน หรือการนอนเยอะเกินจากที่เคย
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ยาคุม เมนส์
  • ความเครียด การกระตุ้นโดยแสง เสียงดัง ความเปลี่ยนแปลงความสว่างไปมา

ตัวกระตุ้นเหล่านั้น ทำให้เส้นเลือดบริเวณรอบสมอง ขยายตัวมากเกินไป การที่มันขยายตัวมาก จะไปกระตุ้น Trigeminal nerve (เส้นประสาทคู่ที่ 5) ที่อยู่รอบๆ ซึ่งจะนำการตอบสนองในรูปแบบของความเจ็บปวด ไปยังก้านสมอง

migraine

ก้านสมองจะกระตุ้นให้สมองส่วนอื่นๆรวมถึงเส้นประสาท หลั่งสารในกลุ่มเป็บไตด์ (vasoactive peptide) เช่นที่เราพบในปัจจุบันคือ  CGRP (Calcitonin gene-related peptide) ซึ่งจะยิ่งทำให้สัญญาณการปวดเพิ่มขึ้น และยิ่งกระตุ้นการขยายของเส้นเลือดที่เลี้ยงสมอง มากขึ้นไปอีก ก่อให้เกิดอาการอักเสบ พอยิ่งอักเสบ ก็ยิ่งมีการหลั่งเม็ดเลือดขาวที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ไปกระตุ้นการอักเสบและเจ็บปวดมากขึ้นไปอีกเหมือนจุดชนวนระเบิด ต่อเนื่องกันไป หลังจากนั้นก็ไปกระตุ้นสมองในส่วนอื่นๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน

Share

Comments are closed.