ขี่จักรยานแตกต่างจากวิ่งอย่างไร (ตอน 1)
หลายๆท่านคงจะสังเกตว่า มีบางท่าน วิ่งดี แต่ปั่นจักรยานไม่ดี บางท่านที่เป็นนักจักรยานพอหันมาวิ่ง ก็บ่นว่าแหม มันเมื่อยเหนื่อยกว่า .. ใช่เลยครับ ฝึกแบบไหนได้แบบนั้น จริง วิ่ง กับจักรยาน มันทดแทนกันไม่ได้ครับ
ถึงแม้เราจะบอกว่ามันเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิคเช่นกัน แต่ในเนื้อแท้มันต่าง ส่วนที่เอามาใช้ร่วมกันมันน้อย …โคชฝึกของแต่ละฝ่ายจึงบอกว่า จะวิ่งก็ได้แต่อย่ามากเกินให้การปั่นเสีย เช่นกัน จะปั่นก็ได้ แต่อย่าให้การวิ่งเสีย … เรามาดูกันในรายละเอียดครับ
1. เรื่องของกล้ามเนื้อ ใช้กล้ามเนื้อส่วนใหญ่ท่อนล่างของร่างกายแต่ต่างกัน
ตั้งแต่พื้นฐานเลย
1.1 การปั่น มี 2 จังหวะครับ คือ power phase กับ recovery phase ส่วนการวิ่ง มี 4 จังหวะ heel strike , single limb , push off , leg swing
1.2 ชุดของกล้ามเนื้อ
วิ่ง ใช้ adductor , quadriceps , hamstring กลุ่มกล้ามเนื้อสำหรับการงอเข่า และตรึงกระดูกเชิงกราน กล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนล่าง
ปั่น ใช้หมดทุกมัด โดยเฉพาะ quadriceps กับ ที่ก้น gluteal และใช้กล้ามเนื้อแกนกลางส่วน core (หน้าท้อง หลัง) ไหล่ แขน
1.3 ลักษณะการหดตัวของกล้ามเนื้อ แตกต่างกันอย่างชัด
การปั่น กล้ามเนื้อหดตัวตามแรงหดของกล้ามเนื้อ แรงต้านมาจากแรงต้านภายนอก เรียกว่า concentric contraction ครับ
การวิ่งกลับกัน กล้ามเนื้อออกแรง ต้านการยืดของกล้ามเนื้อ เป็นการรองรับแรงกระแทก eccentric contraction อันนี้แหละครับ เหตุผลว่าปั่นมากๆ ไม่ช่วยอะไรกับวิ่ง คนที่ไม่เคยหัด มาวิ่งมาราธอน หลังวิ่งจะมีโอกาสกล้ามเนื้อปวดภายหลัง (DOMS= delayed onset muscle soreness) ที่เรียกว่าทะเลาะกับบันได เพราะการออกแรง แบบ eccentric ทำให้สามารถรับโหลดได้มากกว่าปกติ ใยกล้ามเนื้อก็ฉีกขาดมากกว่าปกติครับ เวลาปวด แค่ออกแรงเกร็งนิดก็ปวดมากมาย
อีกอันนึงครับ ออกแรงแบบเล่นกล้าม กล้ามเนื้อขนาดเท่าเดิม เรียกว่า isometric contraction ซึ่งเป็นเหตุผลว่า เล่นกล้าม ก็ใช่ว่าจะปั่นจักรยาน หรือวิ่งได้ดี เพราะลักษณะการออกแรงไม่เท่ากัน