กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ดูแลและสังเกตอาการป่วยของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด หลังปีนี้พบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก รวมเกือบ 5 หมื่นรายแล้ว และเสียชีวิต 3 ราย โดยขอความร่วมมือสถานศึกษาร่วมคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับ
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้มักพบเด็กเล็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เป็นสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 16 ส.ค. 60 พบผู้ป่วยแล้ว 49,019 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ในจังหวัดจันทบุรี ราชบุรี และร้อยเอ็ด
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด แต่ชนิดที่รุนแรงมากและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไป คือ EV71 โรคนี้พบได้มากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งจากรายงานของโรงพยาบาล 15 แห่งที่เข้าร่วมโครงการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กแรกเกิด – 5 ปี ของสำนักระบาดวิทยา ในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างผู้ป่วยทั้งหมด 93 ราย ตรวจพบเชื้อ 28 ราย ในจำนวนนี้พบติดเชื้อ EV71 มากถึง 14 ราย (ร้อยละ 50) ส่วนพื้นที่ที่ควรติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือจังหวัด ที่มีอัตราป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางเท่ากับ 2 เท่าขึ้นไป มี 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เชียงใหม่ พิษณุโลก พะเยา แม่ฮ่องสอน ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือสถานศึกษาดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้การป้องกันควบคุมโรค ดังนี้ 1.คัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับและให้พักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ 2.สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ และจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ 3.หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ 4.ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ บางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
โรคความดันโลหิตสูง Hypertension (อัพเดต 2024) ถือเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่งที่มีประวัติยาวนาน คู่กับการแพทย์ มีการปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติมาเรื่อยๆล่าสุดคือ 2024 หรือ 2567
อัพเดต อาการ การรักษา โรคไข้เลือดออก หรือ ไข้เดงกี่ (Dengue fever ) รวมถึง ไข้เลือดออกเดงกี่ Dengue Hemorrhagic fever เป็นโรคไข้จากไวรัส…
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2023-2024 องค์การอนามัยโลก For trivalent vaccines for use in the 2023-2024 northern hemisphere influenza season,…
Thaihealth เปิดโซนสุขภาพเด็ก แนะนำบทความจาก Thaihealth Old News ครับ
ฮีทสโตรก heatstroke ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินปกติและควบคุมไม่ได้ โดยทั่วไปคือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิแกนกลาง (core temperature) มากกว่า 40 องศาเซลเซียส ก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆอย่างเฉียบพลัน ถือเป็นภาวะที่ต้องรักษาเร่งด่วน
อาการวิงเวียนศีรษะ เวียนหัวเฉียบพลัน เคสผู้ป่วยวิงเวียนนี้ อายุรแพทย์จะต้องได้เจอทุกวัน อาจจะวันละหลายๆครั้ง หลากหลายอาการ คนไข้จะบอกเล่า ตั้งแต่ อาการต่างๆ เช่น อยู่ๆก็เหมือนบ้านหมุน ทรงตัวไม่ได้ อันนี้อาการมาก เวียนเซ เป็นตอนขยับศีรษะ…