ภาวะครรภ์เป็นพิษ(toxemia of pregnancy)
เมื่อสองสามวันก่อน พบคนไข้ประจำรายหนึ่ง มาด้วย”แพทย์บอกว่า มีความดันสูงในขณะตั้งครรภ์ เพราะกลัวครรภ์เป็นพิษ”เลยต้องนัดพบแพทย์ถี่หน่อย เรื่องนี้น่าสนใจ ผมจะแนะนำให้ฟังว่า เป็นอย่างไร
ครรภ์เป็นพิษ (Toxemia of pregnancy)
ครรภ์เป็นพิษ หมายถึง ภาวะผิดปกติที่พบในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งประกอบด้วยอาการ 3 ประการร่วมกัน ได้แก่ อาการบวม, ความดันโลหิตสูง และตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ
โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของหญิงตั้งครรภ์ มักมีอาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนขึ้นไป จนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์
ครรภ์เป็นพิษยังแบ่งเป็น พรีอีแคลมป์เชีย (preeclampsia) ซึ่งมีเพียงอาการบวม ความดันโลหิตสูง และมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ ไม่มีอาการชักหรือหมดสติ, กับอีแคลมป์เชีย (eclampsia) ซึ่งจะมีอาการชักหรือหมดสติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ โดยทั่วไปประมาณร้อยละ 5 ของครรภ์เป็นพิษชนิดพรีแคลมป์เชียอาจกลายเป็นชนิดอีแคลมป์เชีย
หลังจากคลอดแล้วอาการของครรภ์เป็นพิษจะค่อยๆ หายไปได้เอง
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด มักพบในครรภ์แรก, ครรภ์แฝด, ครรภ์ไข่ปลาอุก และในผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไตอยู่ก่อน
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ตามัว คลื่นไส้อาเจียน ปวดตรงใต้ลิ้นปี่ บวมตามมือตามเท้าและใบหน้า
ในรายที่เป็นพรีอีแคลมป์เชียระยะรุนแรง จะพบความดันโลหิตสูงเกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท อาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงตก, เอนไซม์ตับขึ้นสูง และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (เลือดออกง่าย) อาจมีอาการปวดตรงลิ้นปี่รุนแรง เนื่องจากมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มตับ
ในรายที่เป็นอีแคลมป์เชีย จะมีอาการชักหรือหมดสติ ซึ่งอาจเกิดก่อนคลอด ขณะคลอด หรือภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด
สิ่งตรวจพบ
ความดันโลหิตช่วงบน (ซิสโตลี) > 140 มิลลิเมตรปรอท หรือช่วงล่าง (ไดแอสโตลี) >90 มิลลิเมตรปรอท (ถ้าช่วงบน > 160 มิลลิเมตรปรอท หรือช่วงล่าง > 110 มิลลิเมตรปรอท ก็ถือว่ารุนแรง)
เท้าบวม กดมีรอยบุ๋ม
อาจตรวจพบภาวะซีด จ้ำเขียว เลือดออก
นอกจากนี้ ยังตรวจพบรีเฟลกซ์ของข้อไว (hyperreflexia) หรือภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ซึ่งใช้เครื่องฟังปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
ตรวจปัสสาวะพบสารไข่ขาว (albumin) ซึ่งถ้ายิ่งมีมาก (ขนาด 3+ หรือ 4+) ก็ถือว่ายิ่งรุนแรง
การตรวจเลือดอาจพบเอนไซม์ตับ (เอแอลที=sgot) และสารบียูเอ็นรวมทั้งครีอะตินีนสูงขึ้น(BUN,Cr)
อาการแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด เด็กคลอดตัวเล็ก เลือดออกในสมองของหญิงตั้งครรภ์
บางรายอาจมีภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือตับอักเสบ (ดีซ่าน) แทรกซ้อน
ในรายที่เป็นครรภ์เป็นพิษชนิดร้ายแรง หรืออีแคลมป์เชีย (มีอาการชัก หมดสติ) มีอัตราตายได้ถึงร้อยละ 10-15
การรักษา
1. หากสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะ
ในรายที่เป็นไม่มาก ไม่จำเป็นต้องพักโรงพยาบาล ควรแนะนำให้นอนพักที่บ้านให้เต็ม
ที่ทั้งวัน (การนอนพักจะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังสมอง หัวใจ ตับ ไต และรกได้ดี อาการของโรคอาจทุเลาได้) และนัดผู้ป่วยมาตรวจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 2 วัน หรือส่งพยาบาลไปเยี่ยมบ้าน เพื่อประเมินอาการทุกวัน
ถ้าไม่ดีขึ้น หรือความดันช่วงบน > 140 หรือ ช่วงล่าง > 90 มิลลิเมตรปรอท หรือมีปัญหาไม่สามารถติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยนอนพักให้เต็มที่ ทำการตรวจวัดความดันโลหิต, ตรวจรีเฟลกซ์ของข้อ, ตรวจดูสารไข่ขาวในปัสสาวะ และฟังเสียงหัวใจทารกบ่อยๆ นอกจากนี้ยังต้องตรวจเลือด (ดูจำนวนเกล็ดเลือด, อิเล็กโทไลต์, บียูเอ็น, ครีอะตินีน, เอนไซม์ตับ) ทุก 1-2 วัน
ถ้าพบว่ามีความดัน > 160/110 มิลลิเมตปรอท จะให้ยาลดความดัน เช่น ไฮดราลาซีน (hydralazine) 5-10 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือให้อมไนเฟดิพีน 10 มิลิกรัม ไว้ใต้ลิ้น ควรควบคุมให้ความดันช่วงล่างอยู่ระหว่าง 90-100 มิลลิเมตรปรอท (ถ้าลดต่ำกว่านี้อาจทำให้รกขาดเลือดไปเลี้ยงได้) ห้ามให้ยาลดความดันกลุ่มยาต้านเอช เพราะอาจทำให้ทารกพิการ และมารดาไตวายได้ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาขับปัสสาวะโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงรกได้ไม่ดี (ยกเว้นในรายที่มีปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากไตวาย อาจให้ฟูโรซีไมด์)
ถ้าเป็นมาก อาจฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulfate) เพื่อป้องกันอาการชักและลดความดัน
เมื่อครรภ์ใกล้กำหนดคลอด (มากกว่า 34 สัปดาห์) ควรหาวิธีทำให้เด็กคลอด โดยการใช้ยากระตุ้น หากไม่ได้ผลอาจต้องทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
2. หากมีอาการชัก ให้ฉีดไดอะซีแพม 5-10 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน แพทย์จะฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต หรือไดอะซีแพม ควบคุมอาการชัก และรีบทำการคลอดเด็ก หลังคลอดอาจต้องให้ยาป้องกันการชักต่อไปอีก 1-7 วัน
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้สามารถให้การดูแลรักษาให้ปลอดภัยได้ทั้งมารดาและเด็กในครรภ์ ถ้ามีการตรวจพบตั้งแต่เริ่มเป็น ดังนั้นจึงควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ หมั่นชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะ ถ้าพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรแนะนำไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
2. ในการฝากครรภ์ ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์สังเกตอาการปวดศีรษะ ตามัว หรือบวมตามหน้าหรือมือด้วยตนเอง หากพบก็ให้รีบกลับมาตรวจก่อนนัด
3. ถ้าพบอาการครรภ์เป็นพิษในระยะแรกๆ (ก่อนอายุครรภ์ 5 เดือน) ควรสงสัยว่าเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก
10 อันดับความก้าวหน้าหรือ medical breakthrough ทางการแพทย์ ประจำปี 2550 เรื่องที่ 3 วัคซีนไข้หวัดนก ตัวแรก ออกแล้ว ในปี 2007 ความกังวลว่า…
หลายคนคงเคยมีคำถาม จะขลิบหนังหุ้มปลาย อย่างไร เมื่อไร และทำไม โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ที่มีลูกชาย อาจจะเคยมีแพทย์แนะนำให้ ขลิบหนังหุ้มปลายตั้งแต่เด็กยังเล็กๆเลย ซึ่งแน่นอน ว่าต้องเกิดความกังวลในใจคุณแน่ๆ (more…)
ข้อมูลจาก health day และศูนย์ข้อมูลโรคไตของสหรัฐ ได้ให้คำแนะนำสำหรับป้องกันการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะและไต ดังนี้ ดื่มน้ำวันละมากๆ ห้ามกลั้นปัสสาวะนานๆ อาบน้ำโดยใช้การตักอาบหรือฝักบัว ดีกว่าใช้อ่างอาบน้ำ (more…)
การปลูกฝังสมาธิในเด็ก เป็นการปูพื้นความสามารถในการเรียนรู้ให้เด็ก ผมมีบทความดีๆจาก ศูนย์จินตคณิต http://www.imaxbrain.com พัทยา ที่นำมาจากการสัมนาเรื่อง สมาธิ คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดี มาฝากครับ (more…)
เหา (Pediculosis capitis) เหาเกิดจากเชื้อปาราสิต ชื่อว่า "Pediculus humanus" ซึ่งอาศัยอยู่บนหนังศีรษะ เส้นผม ขน ปาราสิตนี้จะคอยดูดเลือดกินเป็นอาหาร และวางไข่บนเส้นผม โดยหลั่งสารไคติน (chitin) หุ้มปลายหนึ่งของไข่…