บิดไม่มีตัว หรือบิดชิเกลลา (Shigellosis)
บิดชิเกลลา (บิดไม่มีตัว) พบในคนทุกเพศทุกวัย พบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการถ่ายท้องเสียเป็นมูกหรือมูกปนเลือด (ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นบิด จึงมักนึกถึงโรคนี้มากกว่าโรคอื่นๆ) ส่วนมากไม่มีอันตรายร้ายแรง ส่วนน้อยอาจเป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงตายได้
บางครั้งอาจเกิดการระบาดของโรคนี้ และจะพบในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน

สาเหตุ
เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อชิเลลา (shigella) ซึ่งเป็นแบคทีเรีย แล้วเกิดอาการอักเสบของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
ระยะฟักตัว 1-7 วัน (พบบ่อย 24-48 ชั่วโมง)
อาการ
เริ่มแรกจะมีอาการปวดบิดในท้องก่อน ภายใน 1 ชั่วโมงต่อมาจะมีไข้ขึ้นและถ่ายเป็นน้ำ ถ้าถ่ายรุนแรงอาจทำให้อ่อนเพลีย เพราะเสียน้ำกับเกลือแร่ บางรายอาจเพียงถ่ายเหลว นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาอาการท้องเดินจะทุเลาลง แต่จะปวดเบ่งที่ก้นและถ่ายเป็นมูก (หนองสีขาว) หรือมีมูกปนเลือดบ่อยครั้ง กลิ่นไม่เหม็นมาก
ในเด็กอาจมีไข้สูง และชักได้
อาการไข้จะหายเองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการท้องเดินเป็นบิดจะหายเองภายใน 5-7 วัน (โดยไม่ได้กินยา) แต่บางรายอาจกลับเป็นได้ใหม่อีก
สิ่งตรวจพบ
ไข้ 38.5-40o ซ. อาจพบอาการขาดน้ำ หรือช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ)
ท้องอาจกดเจ็บเล็กน้อย
บางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งปกติ
อาการแทรกซ้อน
ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
ที่พบได้น้อย เช่น ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน
ส่วนลำไส้ทะลุและเยื่อบุช่องท้องอักเสบอาจพบได้แต่น้อยมาก
การรักษา
1. ให้ยาปฏิชีวนะ
ผู้ใหญ่ ให้โคไตรม็อกซาโซลวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด เช้าและเย็น หรืออะม็อกซีซิลลินครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หรือเตตราไซคลีนแคปซูลทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน, หรือนอร์ฟล็อกซาซินครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน
เด็กโต ให้แบบเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ใช้ขนาดยาเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่
เด็กเล็ก ให้โคไตรม็อกซาโซลชนิดน้ำเชื่อม หรือ อะม็อกซีซิลลินชนิดน้ำเชื่อม นาน 5 วัน
2. ให้การรักษาตามอาการเช่น ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ ถ้าอ่อนเพลียหรือมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ผสมเองหรือเตรียมจากผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม
ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ถ้าเคยมีประวัติการชักควรให้ยากันชัก
ส่วนยาแก้ท้องเดินไม่จำเป็นต้องให้ ห้ามให้ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น โลเพอราไมด์, โลโมทิล, อะโทรพีน, ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร เป็นต้น เพราะอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้น ทำให้โรคหายช้าหรือลุกลามได้
3. ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือช็อก ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นในเด็กหรือผู้สูงอายุ
4. ในรายที่อาการไม่รุนแรง แต่ให้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 5 วันแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น นำอุจจาระไปเพาะเชื้อ, ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoidoscope) ถ้าเป็นโรคนี้จริงก็ให้การรักษาแบบเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบๆ, ไม่กินน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด
2. กินอาหารสุกและไม่มีแมลงวันตอม
3. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าวและหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลอง หรือตามพื้นดิน

CK

2535 แพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2539 วุฒิบัตร อายุรศาสตร์

Recent Posts

ความดันโลหิตสูง 2024(1)

อัพเดตความดันโลหิตสูง Hypertension (2024) ภาค 1. ความรู้เบื้องต้น

1 month ago

วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก(2550)

10 อันดับความก้าวหน้าหรือ medical breakthrough ทางการแพทย์ ประจำปี 2550 เรื่องที่ 3 วัคซีนไข้หวัดนก ตัวแรก ออกแล้ว ในปี 2007 ความกังวลว่า…

8 years ago

ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ทำไม อย่างไร เมื่อไร

หลายคนคงเคยมีคำถาม จะขลิบหนังหุ้มปลาย อย่างไร เมื่อไร และทำไม โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ที่มีลูกชาย อาจจะเคยมีแพทย์แนะนำให้ ขลิบหนังหุ้มปลายตั้งแต่เด็กยังเล็กๆเลย ซึ่งแน่นอน ว่าต้องเกิดความกังวลในใจคุณแน่ๆ (more…)

8 years ago

Health tip ป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ข้อมูลจาก health day และศูนย์ข้อมูลโรคไตของสหรัฐ ได้ให้คำแนะนำสำหรับป้องกันการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะและไต ดังนี้ ดื่มน้ำวันละมากๆ ห้ามกลั้นปัสสาวะนานๆ อาบน้ำโดยใช้การตักอาบหรือฝักบัว ดีกว่าใช้อ่างอาบน้ำ (more…)

8 years ago

สมาธิ จุดเริ่มต้นในการพัฒนาการเรียนของเด็ก

การปลูกฝังสมาธิในเด็ก เป็นการปูพื้นความสามารถในการเรียนรู้ให้เด็ก ผมมีบทความดีๆจาก ศูนย์จินตคณิต http://www.imaxbrain.com พัทยา ที่นำมาจากการสัมนาเรื่อง สมาธิ คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ดี มาฝากครับ (more…)

8 years ago

ไข้หวัด

ไข้หวัด เกิดจากเชื้อไวรัสหวัด เด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 6 เดือน เป็นหวัดน้อยกว่าเด็กโต ทั้งนี้เพราะ เด็กทารกช่วงวัยนั้น ได้รับภูมิต้านทาน เชื้อโรคหวัด ผ่านทางรก และเลือดของแม่ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์…

8 years ago