บิดไม่มีตัว shigellosis โรคที่ทำให้ท้องเสีย

บิดไม่มีตัว หรือบิดชิเกลลา (Shigellosis)
บิดชิเกลลา (บิดไม่มีตัว) พบในคนทุกเพศทุกวัย พบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการถ่ายท้องเสียเป็นมูกหรือมูกปนเลือด (ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นบิด จึงมักนึกถึงโรคนี้มากกว่าโรคอื่นๆ) ส่วนมากไม่มีอันตรายร้ายแรง ส่วนน้อยอาจเป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงตายได้
บางครั้งอาจเกิดการระบาดของโรคนี้ และจะพบในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน

สาเหตุ
เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อชิเลลา (shigella) ซึ่งเป็นแบคทีเรีย แล้วเกิดอาการอักเสบของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
ระยะฟักตัว 1-7 วัน (พบบ่อย 24-48 ชั่วโมง)
อาการ
เริ่มแรกจะมีอาการปวดบิดในท้องก่อน ภายใน 1 ชั่วโมงต่อมาจะมีไข้ขึ้นและถ่ายเป็นน้ำ ถ้าถ่ายรุนแรงอาจทำให้อ่อนเพลีย เพราะเสียน้ำกับเกลือแร่ บางรายอาจเพียงถ่ายเหลว นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาอาการท้องเดินจะทุเลาลง แต่จะปวดเบ่งที่ก้นและถ่ายเป็นมูก (หนองสีขาว) หรือมีมูกปนเลือดบ่อยครั้ง กลิ่นไม่เหม็นมาก
ในเด็กอาจมีไข้สูง และชักได้
อาการไข้จะหายเองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการท้องเดินเป็นบิดจะหายเองภายใน 5-7 วัน (โดยไม่ได้กินยา) แต่บางรายอาจกลับเป็นได้ใหม่อีก
สิ่งตรวจพบ
ไข้ 38.5-40o ซ. อาจพบอาการขาดน้ำ หรือช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ)
ท้องอาจกดเจ็บเล็กน้อย
บางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งปกติ
อาการแทรกซ้อน
ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
ที่พบได้น้อย เช่น ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน
ส่วนลำไส้ทะลุและเยื่อบุช่องท้องอักเสบอาจพบได้แต่น้อยมาก
การรักษา
1. ให้ยาปฏิชีวนะ
ผู้ใหญ่ ให้โคไตรม็อกซาโซลวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด เช้าและเย็น หรืออะม็อกซีซิลลินครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หรือเตตราไซคลีนแคปซูลทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน, หรือนอร์ฟล็อกซาซินครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน
เด็กโต ให้แบบเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ใช้ขนาดยาเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่
เด็กเล็ก ให้โคไตรม็อกซาโซลชนิดน้ำเชื่อม หรือ อะม็อกซีซิลลินชนิดน้ำเชื่อม นาน 5 วัน
2. ให้การรักษาตามอาการเช่น ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ ถ้าอ่อนเพลียหรือมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ผสมเองหรือเตรียมจากผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม
ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ถ้าเคยมีประวัติการชักควรให้ยากันชัก
ส่วนยาแก้ท้องเดินไม่จำเป็นต้องให้ ห้ามให้ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น โลเพอราไมด์, โลโมทิล, อะโทรพีน, ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร เป็นต้น เพราะอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้น ทำให้โรคหายช้าหรือลุกลามได้
3. ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือช็อก ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นในเด็กหรือผู้สูงอายุ
4. ในรายที่อาการไม่รุนแรง แต่ให้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 5 วันแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น นำอุจจาระไปเพาะเชื้อ, ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoidoscope) ถ้าเป็นโรคนี้จริงก็ให้การรักษาแบบเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบๆ, ไม่กินน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด
2. กินอาหารสุกและไม่มีแมลงวันตอม
3. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าวและหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลอง หรือตามพื้นดิน