โรคมือเท้าปากเปื่อย
มือ เท้า ปาก เปื่อย(HFM)หรือ มือ ปาก เท้า
มือ เท้า ปาก เปื่อย หรือ hand foot mouth syndrome เกิดจากเชื้อค๊อกแซกกี่ A (COXSACKIC VIRUS A) ซึ่งเชื้อนี้จะไม่รุนแรง เป็นแล้วหายเองได้ แต่ถ้าเป็นจากเชื้อค๊อกแซกกี่ B (COXSACKIC VIRUS B) หรือเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) อาการจะรุนแรงกว่ามาก อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, สมองอักเสบ, อัมพาต หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ที่พบในสิงคโปร์จะเป็นเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71
ระยะฟักตัว ประมาณ 4-6 วัน ถ้าเป็นเด็กเล็กจะปรากฏอาการ 100% ถ้าเป็นเด็กนักเรียน อาจแสดงอาการ 38% ผู้ใหญ่แสดงอาการ 11%
อาการที่พบ คือ มีไข้ ประมาณ 2-3 วัน มีแผลลักษณะคล้ายแผลร้อนในปาก ที่ลิ้นกระพุ้งแก้ม ขนาดประมาณ 4-8 มิลลิเมตร จะพบตุ่มใสๆ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มักพบที่ก้นด้วย ขนาดประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ตุ่มเหล่านี้จะหายได้เองภายใน 7 วัน
การรักษา โดยทั่วไปคือ รักษาตามอาการคือ ให้ยาลดไข้ เวลามีไข้ ตุ่มที่ฝ่ามือเท้ามักไม่คันไม่เจ็บ แผลในปากมักจะเจ็บมาก ทำให้เด็กๆ ไม่ยอมดูดนม หรือกินอาหาร การดูดจุกนมอาจจะทำให้เจ็บมาก อาจให้เด็กกินนมโดยใช้ช้อนป้อน หรือใช้หลอดสำหรับฉีดยาค่อยๆ หยดนมใส่ปาก การรับประทานนมที่เย็น อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ หรือรับประทานไอศกรีม จะทำให้แผลไม่ค่อยเจ็บ และเด็กยังได้น้ำและสารอาหารบ้าง ถ้าแผลเจ็บมากอาจลองใช้ยาชา แต้มผลก็จะทุเลาอาการเจ็บลงได้บ้าง ในเด็กเล็กๆ ถ้ามีแผลในปากมาก และไม่ยอมกินอะไร และเริ่มมีอาการขาดน้ำ อาจต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ เมื่ออาการเจ็บแผลดีขึ้น เด็กเริ่มกินได้ ก็กลับบ้านได้ เอนเทอโรไวรัส 71 อาการที่ควรเฝ้าสังเกต คือ ซึมลง เกร็ง ปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ปวดตามกล้ามเนื้ออย่างมาก หรือมีอาการหอบเหนื่อย ถ้าเด็กเริ่มมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบกลับไปพบแพทย์โดยด่วน
การติดต่อ สามารถติดต่อได้ทางน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไวรัส มักจะออกมากในสัปดาห์แรก แต่อาจออกทางอุจจาระได้นานถึง 2-3 เดือน ฉะนั้นหลังล้างก้นเด็กทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาด ถ้าผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานเป็นโรคนี้ก็ควรให้หยุดไปเนอสเซอรี่ หรือโรงเรียนจนกว่าตุ่มแผลต่างๆ จะหาย จะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้กับเด็กคนอื่นด้วย