ไข้หวัด

ไข้หวัด

เกิดจากเชื้อไวรัสหวัด เด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 6 เดือน เป็นหวัดน้อยกว่าเด็กโต ทั้งนี้เพราะ เด็กทารกช่วงวัยนั้น ได้รับภูมิต้านทาน เชื้อโรคหวัด ผ่านทางรก และเลือดของแม่ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเมื่อคลอดออกมา ทารกได้ดูดนมแม่ ก็จะได้รับ ภูมิต้านทานเชื้อโรคหวัด รวมทั้งเชื้อโรคอื่นๆ จากนมแม่ด้วย เมื่อเด็กอายุมากขึ้น ระดับภูมิต้านทานเชื้อโรค ที่ได้รับจากแม่จะค่อย ๆ ลดลง จึงทำให้เด็กเริ่มเป็นหวัดบ่อยขึ้น

เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม

ไรโนไวรัส rhinovirus
โคโรนาไวรัส coronavirus
อดีโนไวรัส adenovirus
อาร์เอสวี RSV respiratory syncitial virus
อินฟลูเอนซ่า influenza ไวรัสไข้หวัดใหญ่
พาราอินฟลูเอนซ่า parainfluenza
เอนเทอโรไวรัส enterovirus
กลุ่มไวรัสเชื้อเริม herpes virus

ระยะฟักตัว 1-3 วัน
เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูคนเดียวในบ้าน จะเป็นหวัดน้อยกว่าเด็กที่พ่อแม่นำไปฝากเลี้ยงที่สถานเลี้ยงเด็ก และเด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้วก็จะเป็นหวัดบ่อยกว่าเด็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนอนุบาล ทั้งนี้ เพราะ เด็กที่อยู่รวมกันเป็นมากย่อมคลุกคลีใกล้ชิดกันตามประสาเด็ก ทำให้มีอาการไอ จาม และหายใจรดกัน บ่อย ๆ หากเด็กคนหนึ่งคนใดมีเชื้อโรคหวัด เชื้อไวรัสก็จะแพร่กระจายไปสู่เด็กอีกหลาย ๆ คนได้ง่าย
เด็กเล็กและเด็กอนุบาลนี้ อาจจะเป็นหวัดได้ถึงปีละ 6-8 ครั้ง ช่วงฤดูที่เด็กเป็นหวัดมากก็คือ ช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว เพราะในช่วงดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็น หรือมีความชื้นมาก เชื้อไวรัสแพร่ขายพันธุ์ได้รวดเร็ว รวมทั้งเด็กอาจจะปรับตัวกับสภาวะอากาสที่เปลี่ยนแปลงจากฤดูหนึ่งไปอีกฤดูหนึ่งได้ไม่ค่อยดี นอกจากนั้น การที่เด็กจะเป็นหวัดบ่อยครั้งหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนตัวของเด็กเอง โดยเฉพาะพื้นฐาน ทางด้าน สุขภาพ ว่ามีความสมบูรณ์ แข็งแรงเพียงใด เช่น ถ้าเด็กน้ำหนักตัวน้อย ขาดสารอาหาร ก็จะเป็นได้ทั้งปี นอกจากนี้ ปัจจัยด้านมลภาวะ เช่น ฝุ่นละออง ควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากการเผาขยะ การอยู่ใกล้ถนน ที่มีจราจรพลุกพล่าน อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงงานที่มีการผลิต หรือเผาไหม้สารเคมี ก็เป็นสาเหตุเสริม ที่ทำให้เด็ก มีอาการเหมือนไข้หวัด เนื่องจากมลภาวะ เหล่านี้ ก่อให้เกิดการระคายเคือง ต่อระบบหายใจ และยังทำให้ติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
อาการของไข้หวัดในเด็กอายุ 3 เดือน – 3 ปี มักจะมีไข้นำมาก่อน ส่วนเด็กเล็ก ๆ หรือเด็กโตกว่านี้ อาจจะไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำ ๆ นอกจากนี้ ก็จะมีอาการจาม คัดจมูก แน่นจมูก หายใจลำบาก น้ำมูกไหล เด็กเล็ก ๆ ซึ่งมีอาการคัดจมูก แน่นจมูกมาก การให้ยาหยอดจมูก หรือดูดน้ำมูกออก จะช่วยให้เด็ก หายใจดีขึ้น ส่วนเด็กโต เมื่อเริ่มเป็นหวัด มักจะมีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางครั้ง อาจมีอาการปวดศรีษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจเริ่มมีน้ำมูกใส ๆ วันต่อมา น้ำมูกข้นขึ้น และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเหมือนหนอง ภายในระยะเวลา 2- 4 วัน การที่มีน้ำมูก และเยื่อบุจมูกบวมขึ้น ทำให้เด็ก หายใจไม่สะดวก ก็จะอ้าปากหายใจ ซึ่งจะทำให้ เยื่อบุช่องปาก แห้งยิ่งขึ้น ทำให้รู้สึกเจ็บคอมากขึ้น ปกติเ ด็กที่เป็นหวัด จะหายภายใน ระยะเวลา 5- 7 วัน ถ้ายังไม่หาย ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพราะ อาจเกิดโรคแทรกซ้อน จากการติดชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการ อักเสบ ลุกลามไปถึงช่องปาก ทอนซิล ไซนัส หรือหูส่วนกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต้นคอ และหลังหูอักเสบโตขึ้น ร่วมทั้งยังลุกลาม ไปถึงกล่องเสียง หลอดลม และปอด ทำให้เกิดอาการ อักเสบ ของอวัยวะดังกล่าว
การรักษาไข้หวัดนั้น ควรให้การดูแลผู้ป่วยตามอาการเช่น ให้ยาลดไข้ ให้นอนพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมากขึ้น หรือเครื่องดื่มอื่น เช่น น้ำส้มคั้น น้ำแกงจืด น้ำข้าว ยาลดไข้ควรใช้ยาพาราเซตตามอล ในปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ระบุไว้ในฉลาก หรือตามแพทย์สั่ง และอย่าให้ซ้ำบ่อยเกินกว่าทุก 4 ชั่วโมง เพราะยาอาจสะสม ทำให้เกิดเป็นพิษได้ นอกจากนี้ หากเด็กเกิดอาการคัดจมูก การใช้น้ำเกลือ หยอดจมูกในเด็กเล็ก ๆ และช่วยดูดน้ำมูกออก จะช่วยให้เด็กสบายขึ้น ในเด็กโต อาจใช้ยาหยอดจมูกได้ แต่อย่าใช้บ่อยเกินไป และไม่ควรใช้นานเกิน 4- 5 วัน เพราะยาอาจทำให้เกิด การระคายเคืองมากขึ้น ถ้าจะให้ดี ก่อนใช้ ควรจะปรึกษาแพทย์

อาการแทรกซ้อน ที่พบบ่อยคือการมีเชื้อแบคทีเรียแทรก มีอาการไข้สูง ไอเสมหะเขียว ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ในเด็กเล็ก อาจเกิดชักจากไข้สูง
ในบางคนอาจมีอาการวิงเวียนจากอาการที่เรียกว่า หวัดลงหู เนื่องจากหูชั้นในที่เป็นอวัยวะในการทรงตัวเสียซึ่งหายเองได้ภายใน 3-5 วัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัด และวิตามินซี ก็ไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ ในการป้องกัน โรคหวัด ที่สามารถทำได้คือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีคุณค่า จัดที่อยู่อาศัย ให้สะอาด ปราศจากมลภาวะทางอากาศ พ่อแม่ไม่ควรสูบบุหรี่ในห้องที่เด็กอยู่ พยายามอย่าให้คนที่เป็นหวัด อุ้มชูเลี้ยงดู หรืออยู่ใกล้ชิดเด็ก นอกจากนี้พ่อแม่ควรพาลูก ไปฉีดวัคซีนต่าง ๆตามวัย เพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดโรคอื่น ๆ ร่วมกับโรคหวัด เพราะจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพยิ่งขึ้น

คำแนะนำ
ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยทุกราย
ในคนที่เป็นไข้หวัดเรื้อรัง อาจมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หัวใจรั่วแต่กำเนิด ทาลัสซีเมีย โรคโลหิตจาง อพลาสติก อนีเมีย ขาดอาหาร หรือโรคแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อากาศ
โรคอื่น ๆ บางครั้งอาการเริ่มแรก คล้ายไข้หวัดได้ เช่น ไข้เลือดออก คอตีบ ไอกรน โปลิโอ ตับอักเสบจากไวรัส ทัยฟอยด์ สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น