เหา Pediculosis capitis
เหา (Pediculosis capitis)
เหาเกิดจากเชื้อปาราสิต ชื่อว่า “Pediculus humanus” ซึ่งอาศัยอยู่บนหนังศีรษะ เส้นผม ขน ปาราสิตนี้จะคอยดูดเลือดกินเป็นอาหาร และวางไข่บนเส้นผม โดยหลั่งสารไคติน (chitin) หุ้มปลายหนึ่งของไข่ ให้เกาะติดแน่นอยู่ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า บางคนไม่มีอาการเท่าใด แต่จะสร้างความรำคาญใจได้
อายุ
เหาจะพบบ่อยในเด็กวัยเรียนมากที่สุด แต่จริง ๆ แล้วพบทุกเพศทุกวัย
ตำแหน่งที่พบบ่อย
เหาจะพบบ่อยที่ศีรษะด้านท้ายทอย หลังหู อาจลามมาที่คิ้ว คอ ได้ แต่พบน้อย
อาการ
จะมีอาการคันที่บริเวณด้านหลังและด้านตรงศีรษะ ถ้าเกามากเป็นหนอง สะเก็ดแห้งกรัง ได้ บางครั้งเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณท้ายทอย และข้างคอโตได้ ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจจะไม่มีอาการใดมาก ไม่คันมาก
การตรวจร่างกาย
ตัวเหาบนศีรษะ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจใช้แว่นขยายช่วยส่องดู ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีตัวเหาบนศีรษะน้อยกว่า 10 ตัว น้ำลายของตัวเหาจะมีสารซึ่งระคายเคืองผิวหนังได้ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงรอยกัด
ลักษณะไข่ (Nits)
ไข่รูปวงรี ยาว 1 มิลลิเมตร สีขาวขุ่น เกาะติดแน่นกับเส้นผม จำนวนแตกต่างหันเป็นร้อยเป็นพันได้ ตัวเหาจะวางไข่ที่บริเวณโคนรากผม เมื่อผมยาวขึ้นก็จะเห็นไข่เหาเขยิบห่างจากหนังศีรษะมากขึ้น เช่น ปกติผมจะยาววันละ ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ถ้าพบไข่อยู่บนเส้นผมห่างจากหนังศีรษะหรือโคนรากผม ประมาณ 15 เซนติเมตร แสดงว่าเป็นเหามาประมาณ 9 เดือนแล้ว
ไข่ที่ยังมีตัวอยู่จะมีสีเหลืองขุ่น แต่ไข่ที่ว่างเปล่าไม่มีตัวจะมีสีขาวขุ่น
การวินิจฉัย
ตรวจดูเห็นตัวและไข่เหา
การวินิจฉัยแยกโรค
รังแค (dandruff) จะเป็นสะเก็ด ขุยลอกเล็ก ๆ บนศีรษะ ตัวขุยเล็ก ๆ นี้ จะไปติด แน่นกับเส้นผม เหมือนไข่เหา
การใช้เจลใส่ผม (hair gel)เจลใส่ผม บางครั้งเมื่อทำปฏิกิริยากับเส้นผม แล้วจะแห้งกรัง เกาะติดเป็นแผ่นเล็ก ๆ บนเส้นผมได้
โรคหนังศีรษะอักเสบ (seborrheic capitis) จะมีอาการคัน สะเก็ดลอก หนา เป็นแผ่น ๆ บางครั้งมีแผล น้ำ เหลืองแห้งกรัง
การติดต่อของโรคเหา
เป็นการติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง (direct contact) เช่น
การใช้หวี แปรง ร่วมกัน
การใช้หมวก ร่วมกัน
การใช้หมอน ที่นอนร่วมกัน
จากศีรษะคนหนึ่งไปที่ศีรษะอีกคนหนึ่งเพราะฉะนั้นจึงมักพบระบาดในโรงเรียน ได้บ่อย เพราะเด็กนักเรียนจะวิ่งเล่นใกล้ชิดกันมาก
การรักษา
การโกนผม จะช่วยได้มาก และสะดวกดี ไม่สิ้นเปลือง แต่เด็ก จะอายเพื่อนฝูง
การใช้หวีเสนียด คือ หวีซึ่งมีซี่ของหวีถี่มากใช้สางผมทำให้ทั้ง ตัวเหาและไข่เหา หลุดติดกับหวีออกมาได้
การใช้ยาฆ่าเหา ชื่อทางการค้าว่า จาคูติน (Jacutin) ใช้ทา ศีรษะ ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง ล้างออกใช้ทาติดต่อกัน 3 วัน
การใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าเกิดมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเกิดขึ้น
ยากินกลุ่มแอนติฮีสตามีน ใช้กินเพื่อระงับอาการคัน
การป้องกัน
อย่าใช้ของร่วมกัน เช่น หวี แปรง หมวก ที่นอน หมอน เป็นต้น
ปลอกหมอน ควรซัก ตากแดด หรือใช้ต้มน้ำร้อน
การรักษา ควรรักษาทั่วทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียน ที่มีการระบาดเกิด ขึ้น