ชักจากไข้สูง febrile convulsion

ชักจากไข้สูง (Febrile convulsion)
ชักจากไข้สูง หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นขณะมีไข้สูง เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยไม่รวมถึงการติดเชื้อของสมองและเยื้อหุ้มสมอง
พบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการชักที่มีไข้ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี พบได้ประมาณร้อยละ 3-5 ของเด็กในวัยนี้ และร้อยละ 50-70 ของเด็กเหล่านี้ จะมีอาการชักร่วมกับไข้เพียงครั้งเดียว
เด็กเล็กที่เคยชักจากไข้สูงมาครั้งหนึ่งแล้วประมาณร้อยละ 30-50 อาจมีอาการชักซ้ำได้อีกเมื่อมีไข้สูง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถป้องกันมิให้ชักซ้ำได้

โดยทั่วไปเมื่อเด็กมีอายุมากกว่า 5 ปี โอกาสที่จะเกิดอาการชักจากไข้สูงก็นับว่าน้อยลงมาก ทั้งนี้เนื่องจากสมองเจริญเติบโตมากขึ้น จึงไวต่อการกระตุ้นน้อยลง
เด็กที่เป็นโรคนี้มักมีประวัติว่า มีพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน เคยชักจากไข้สูงด้วย
สาเหตุ
อาการชักจากไข้สูง พบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี (พบมากที่สุดในช่วง 3 ขวบแรก) เนื่องจากสมองของเด็กกำลังเจริญเติบโต จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากไข้ ซึ่งโดยมากขนาดของไข้ที่จะทำให้ชักได้มักจะสูงเกิน 39o ซ. ขึ้นไป
ประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่ชักจากไข้สูง มักมีสาเหตุมาจากไข้หวัด, ทอนซิลอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ
สาเหตุที่พบได้รองๆ ลงมาคือ บิดชิเกลลา, ท้องเดิน, หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ, ส่าไข้ เป็นต้น
อาการ
มีไข้สูงประมาณ 39.5-40.5o ซ. ร่วมกับอาการของ โรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เป็นหวัด, เจ็บคอ, ไอ, ท้องเดิน, เป็นบิด เป็นต้น แล้วต่อมามีอาการชักแบบกระตุกทั้งตัว ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น นานครั้งละ 2-3 นาที
โดยมากจะชักเพียง 1-2 ครั้ง ขณะที่ตัวร้อนจัด พอไข้ลงก็จะไม่ชักซ้ำอีก
เด็กจะมีอาการทั่วๆ ไปดี ไม่ซึมไม่มีอาการคอแข็ง หรือกระหม่อมโป่งตึง
ในรายที่เป็นรุนแรง มักจะชักนานเกิน 15 นาที่ หรือชักเกิน 1 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการชักเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
สิ่งตรวจพบ
ขณะที่มาพบแพทย์ เด็กมักจะหายชักแล้ว แต่บางรายอาจมีอาการชักซ้ำให้เห็น ส่วนมากมักจะมีไข้สูงและอาการของโรคที่พบร่วม
อาการแทรกซ้อน
ถ้าชักเพียง 1-2 ครั้ง หรือชักเพียง 2-3 นาที มักจะไม่มีโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อสมองเชาว์ปัญญา และพัฒนาการของเด็ก
แต่ถ้าชักรุนแรง (ชักนานกว่า 15 นาที, ชักเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย) หรือมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว ก็มีโอกาสเป็นลมบ้าหมูเมื่อโตขึ้น หรือทำให้สมองเสื่อม หรือปัญญาอ่อนได้
การักษา
1. ขณะที่มีอาการชัก ให้ถอดเสื้อผ้าเด็กออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกโปะทั้งตัว เปลี่ยนผ้าชุบน้ำใหม่ทุก 2 นาที ถ้าไม่หยุดชักให้ไดอะซีแพม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือเหน็บทางทวารหนัก ถ้าไม่ได้ผลหรือสงสัยเป็นโรคทางสมอง ให้ส่งโรงพยาบาลด่วน ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคทางสมอง อาจต้องเจาะหลังพิสูจน์
2. หลังหยุดชักแล้วให้ค้นหาสาเหตุแล้วให้ยารักษาโรคที่เป็นร่วมพร้อมกับให้ยาลดไข้
ข้อแนะนำ
1. อาการชักจากไข้สูง ควรแยกให้ออกจากอาการชักที่เกิดจากโรคทางสมอง ถ้าพบว่ามีอาการชักรุนแรงหรือไม่แน่ใจ ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในเด็กที่เพิ่งจะชักเป็นครั้งแรก ถ้าไม่แน่ใจอาจต้องพิสูจน์ด้วยการเจาะหลัง
2. อาการชักจากไข้สูง แม้ดูน่ากลัว แต่ถ้าเป็นการชักใน 1-2 ครั้งแรก มักจะไม่มีอันตรายแทรกซ้อน ควรอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจถึงสาเหตุของการชัก เพื่อจะได้ช่วยลดความวิตกกังวล
3. ควรอธิบายให้พ่อแม่เด็กรู้จักวิธีปฐมพยาบาลเด็กขณะที่มีอาการชักจากไข้สูง ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการถอดเสื้อผ้าเด็กออก แล้วรีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวให้ไข้ลดโดยเร็ว เมื่อไข้ลด เด็กจะหยุดชัก แล้วให้พาเด็กไปหาหมอที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด
ไม่แนะนำให้ใช้ไม้กัดลิ้น ด้ามช้อน หรือดินสอ สอดไว้ในปากเด็กดังที่เคยสอนกันมา (เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันเด็กได้รับบาดเจ็บได้) ขณะเด็กชัก ควรจับเด็กตะแตงให้ศีรษะต่ำ เพื่อป้องกันกันการสำลัก
การป้องกัน
การป้องกัน อาการชักจากไข้สูง สามารถกระทำได้โดย
1. ทุกครั้งที่เด็กมีไข้ ควรเช็ดเด็กด้วยน้ำบ่อยๆ และให้ยาลดไข้ ไม่ควรให้เด็กใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือห่มผ้าหนา เพราะจะทำให้ตัวร้อนยิ่งขึ้น
2. ถ้าเด็กเคยชักจากไข้สูงมาครั้งหนึ่งแล้ว ทุกครั้งที่มีไข้ควรให้ไดอะซีแพม กินหรือสวรทางทวารหนักทุก 8 ชั่วโมงร่วมกับยาลดไข้เป็นเวลา 2 ปี ดังนั้นจึงควรให้พ่อแม่เด็กมียาทั้ง 2 ชนิดติดบ้านไว้เสมอ
3. ถ้าเด็กเคยชักเกิน 2 ครั้ง หรือชักนานเกิน 15 นาที หรือชักเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หรือมีความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย ควรแนะนำให้เด็กกินยากันชักฟีโนบาร์บิทาล ติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 2 ปี แล้วจึงค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดยาในระยะ 6 เดือน (ในรายที่ชักรุนแรงอาจต้องให้จนพ้นอายุ 5 ปี) เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

LINE it!