ไวรัสตับอักเสบบี Hepatitis B
โรคไวรัสตับอักเสบบี hepatitis B virus คือ อะไร
ตับอักเสบบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ (HBV) การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดผังผืด ตับแข็งและมะเร็งตับได้
ไวรัสตับอักเสบบี มีความสำคัญกับเราหรือไม่
ในประเทศไทยคาดว่าประชากรประมาณร้อยละ 5 มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นั่นหมายถึงประชากรประมาณ 3 ล้านคนมีไวรัสนี้พร้อมที่จะแพร่ให้ผู้อื่นและก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้ติดเชื้อ
ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันอย่างไร
การติดเชื้อที่พบบ่อย คือการถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก แต่ในปัจจุบันจะลดลงมาก เพราะการฉีดวัคซีนให้ทารกที่คลอดมาจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100 ดังนั้นการติดต่อที่สำคัญในปัจจุบันคือ ทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ การสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง การได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็นก็อาจเป็นสาเหตุได้แต่พบได้น้อยมากในการตรวจกรองของธนาคารเลือดในปัจจุบัน
หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีอาการอย่างไร
หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะเข้าไปฟักตัวในร่างกายเราประมาณ 2-3 เดือนแล้วจึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับโต ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง อาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นในเวลา 2-3 สัปดาห์ และร่างกายจะค่อยๆ กำจัดไวรัสตับอักเสบบี ออกไปพร้อมๆกับการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีซ้ำอีก ผู้ป่วยร้อยละ 5-10 อาจโชคไม่ดี ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากรร่างกายได้ เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตั้งแต่เด็กๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหากตรวจเลือดจะพบว่ามีไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยบางรายจะมีการอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบตลอดเวลาจะทำให้มีการตายของเซลล์ตับ เกิดมีผังผืด เพิ่มมากขึ้นจนเป็นตับแข็งในที่สุด ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจกลายเป็นมะเร็งตับซ้ำเติม
แพทย์สามารถวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบบี ได้อย่างไร
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบบี ในปัจจุบันทำได้ง่ายมากเพียงตรวจเลือดในปริมาณเล็กน้อยเพื่อหาเปลือกของไวรัส (HBsAg) ก็จะทราบได้ว่าท่านมีไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งแพทย์อาจตรวจหาหลักฐานว่ามีตับอักเสบหรือไม่ โดยการตรวจระดับ เอ็นซัยม์ ของตับ (AST/ALT) โดยในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจนัดตรวจ 1-2 ครั้งในเวลาห่างกันทุกๆ 1-2 เดือน ก็จะทราบได้ว่าท่านมีตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่ นอกจากนั้นแพทย์อาจตรวจหาปริมาณไวรัสโดยทางอ้อมด้วยการตรวจ HBeAg หรือตรวจนับไวรัสในเลือดโดยตรง เพื่อประเมินปริมาณของไวรัส ก่อนการรักษาแพทย์อาจจะตรวจชิ้นเนื้อตับโดยใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง หลังจากฉีดยาชาซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการอักเสบของตับ
หากตรวจพบว่าท่านเป็นตับอักเสบบีเรื้อรังจะทำอย่างไร
ในปัจจุบันมีการรักษาที่ได้ผลในการลดการอักเสบของตับอยู่หลายวิธี ทั้งโดยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน หรือยารับประทานลามิวูดีน ซึ่งยาทั้งสองอย่างสามารถลดปริมาณของ ไวรัส ลดการอักเสบของตับ ทำให้ระดับเอ็นซัยม์ของตับกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนั้นยังอาจลดเนื้อเยื้อผังผืดในตับป้องกันการเกิดตับแข็งหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ การตัดสินใจเลือกชนิดยาสำหรับการรรักษาแพทย์ผู้ดูแลจะอธิบายกับท่านถึงผลดีผลเสียของการใช้ยาทั้งสองอย่าง และช่วยพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับยาชนิดใด มากกว่ากันนอกจากนั้นท่านควรปฏิบัติตัวโดยการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะออกกำลังกายสม่ำเสมอควรงดดื่มสุรา และหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น พร้อมกับไปพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจการทำงานของตับและแพทย์อาจตรวจกรองหามะเร็งตับร่วมด้วยท่านสามารถแต่งงานมีบุตรได้โดยควรตรวจคู่สมรสของท่านก่อนแต่งงานหากยังไม่มีภูมิคุ้มกันควรได้รับการฉีดวัคซีนในกรณีมีบุตร ทารกทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากมารดาอยู่แล้ว และมารดาสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ
หากท่านสงสัยว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบบีควรทำอย่างไร
อาการของโรค
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี อาจมาพบแพทย์ได้ 3 ระยะ คือ
ตับอักเสบเฉียบพลับ
ในประเทศไทยผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันราว 1/3 เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการอ่อนเพลียเบื่ออาหารตามด้วยคลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นชายโครงขวา จากตับที่โตแล้วจึงสังเกตว่าปัสสาวะเข้ม ตาเหลืองในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบบี ร้อยละ 90-95 จะหายเป็นปกติพร้อมกับร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ บี มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น ที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้เป็นตับอักเสบเรื้อรังและน้อยกว่าร้อยละ 1 อาจเกิดอาการตับวายได้
ตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี พบความผิดปกติในการทำงานของตับ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่มีการอักเสบและการทำลายเซลล์ตับมากๆ โรคจะดำเนินต่อไปทำให้ตับเสื่อมสมรรถภาพลง จนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด
ตับแข็ง
ซึ่งมักมาพบแพทย์จากอาการแทรกซ้อน เช่น เท้าบวม ท้องบวม อาเจียนเป็นเลือด หรืออาจกลายเป็นมะเร็งตับ
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ บี สามารถกระทำได้โดย
1. การตรวจการทำงานของตับ
โดยการหาเอ็นไซม์ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์ตับที่อักเสบ คือ SGOT (AST) และ SGPT (ALT) ปกติระดับเอ็นไซม์สองตัวนี้จะน้อยกว่า 40 ถ้าสูงผิดปกติบ่งบอกถึงการอักเสบของตับ แต่ไม่จำเพาะกับไวรัสตับอักเสบ บี เพราะอาจพบได้ในการอักเสบจากไวรัสตัวอื่นๆ หรือผลของยาต่างๆ และแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นในกรณีที่เจาะตอบมีไข้ พบว่าค่าต่างๆ เหล่านี้อาจผิดปกติโดยผู้ป่วยไม่ได้มีตับอักเสบ ดังนั้นถ้าพบว่าเอ็นไซม์ผิดปกติต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์มักเจาะซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ถ้ายังผิดปกติจึงหาสาเหตุ
2. การตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
ซึ่งมีการตรวจทั้งการหาแอนติเจนของไวรัส และการตรวจทางน้ำเหลือง
การตรวจหาแอนติเจน ที่สำคัญคือหาค่าแอนติเจนส่วนผิวของไวรัส(HBsAg) ซึ่งถ้าพบแสดงถึงกำลังมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แพทย์อาจตรวจหาแอนติเจนอีกตัว คือ HBeAg ซึ่งถ้าให้ผลบวกแสดงถึงการติดเชื้อที่มีการแบ่งตัวของไวรัสอย่างรวดเร็วมีปริมาณไวรัสมาก
การตรวจทางน้ำเหลือง ที่สำคัญคือการตรวจหาภูมิต้านทานต่อไวรัสตั อักเสบ บี (Anti HBs) ถ้าให้ผลบวกแสดงว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่หายแล้วการตรวจทางน้ำเหลืองอีกตัวคือ Anti HBc เป็นตัวบ่งว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจจะหายไปแล้ว หรือกำลังติดเชื้ออยู่ก็ได้ ไม่ใช่ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อ
นอกจากนี้อาจมีการตรวจหาไวรัสด้วยวิธีอื่น เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในเลือด ซึ่งให้ผลแม่นยำกว่า และสามารถบอกปริมาณจากไวรัสได้
3. การตรวจพยาธิสภาพของตับ
โดยการใช้เข็มเล็กๆ เจาะดูดเอาเนื้อตับชิ้นเล็กๆ ออกมาตรวจ การตรวจนี้จะมี ประโยชน์มาก ในการประเมินความรุนแรงของตับอักเสบ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและการพยากรณ์โรค
4. การตรวจทางรังสีวิทยา
เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียง (Ultrasound) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อาจ ได้ประโยชน์ในการประเมินว่ามีตับแข็งหรือก้อนผิดปกติในตับหรือไม่
การรักษา
1. ตับอักเสบเฉียบพลัน
ไม่มีการรักษาเฉพาะโดยทั่วไปผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้นเองอยู่แล้ว ควรพักผ่อนตาม สมควรรับประทานอาหารให้พอเพียง การดื่มน้ำหวานปริมาณมากๆ ไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นแต่น้ำตาลที่ดื่มเข้าไปมากๆ จะเปลี่ยนเป็นไขมันไปสะสมในตับอาจทำให้ตับโตจุกแน่นนานกว่าปกติได้
2. ตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงสามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติไม่ต้องหยุด งาน การรับประทานยาบำรุงตับ หรือวิตามินไม่มีหลักฐานว่าช่วยลดการอักเสบของตับหรือลดปริมาณไวรัส ยาที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ในปัจจุบัน ได้แก่ อินเตอร์เฟอรอน (alfa-interferon) ซึ่งเป็นยาฉีดโดยปกติแพทย์จะใช้ขนาด 5-10 ล้านยูนิตฉีดต่อกันอย่างน้อย 4-6 เดือน พบว่าราวร้อยละ 30-40 ของผู้ป่วยจะมีการอักเสบของตับลดลงเป็นปกติพร้อมกับปริมาณของไวรัสลดลงด้วย นอกจากนั้นประมาณร้อยละ 10 หายขาดโดยการตรวจ HbsAg เป็นลบ และพบว่าผู้ป่วยที่ได้ผลจะมีการกำเริบน้อยเนื่องจากยาอินเตอร์เฟอรอนมีราคาแพงและมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก การใช้จึงควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ระบบทางเดินอาหารเท่านั้น การรักษาวิธีใหม่คือการให้รับประทานยาต้นไวรัส “ลามิวูดีน” Lamivudine โดยรับประทานขนาด 100 มก. เพียงวันละครั้ง และเกือบไม่พบอาการข้างเคียงเลยจึงเป็นการรักษาที่ดี พบว่าผู้ป่วยราวร้อยละ70-80 จะมีการทำงานของตับเป็นปกติหลังได้ สามารถหยุดยั้งการเจริญของไวรัสได้ (แต่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากตัวได้) แม้ว่าจะมีผลข้างเคียงไม่มาก แต่ยามีราคาแพง และยังมีข้อมูลไม่มากนัก การใช้ยานี้ จึงควรอยู่ในความดูแลของอายุรแพทย์ที่มีความชำนาญด้านโรคตับเท่านั้น
3. การปฏิบัติตัวอื่นๆ
งดดื่มสุรา ทั้งในตับอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรังพบว่าการดื่มสุราเสริมทำ ให้โรครุนแรงขึ้น ในตับอักเสบเรื้อรังยังทำให้ตับเสื่อมสมรรถภาพจนเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับเร็วขึ้น
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เพราะยาเกือบทุกตัวจะถูกทำลายที่ตับ การใช้ยา ต่างๆ จึงควรระมัดระวังและควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเป็นตับอักเสบอยู่ด้วย การใช้ยาสมุนไพร หรือยาสามัญประจำบ้านต่างๆ อาจทำให้โรคลดลงได้
หมั่นตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ แม้แต่ในผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี ก็ควรได้รับการตรวจเป็นระยะ ๆอย่างน้อยทุก 4-6 เดือน เพราะบางครั้งจะมีการอักเสบเกิดขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่เป็นชาย อายุมากหรือมีตับแข็งร่วมด้วย ควรติดตามเป็นระยะๆ เพื่อตรวจหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มต้น
การป้องกัน
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ทั้งที่ทำจากเลือดและผลิตโดยกรรมวิธีพันธุวิศวกรรม ซึ่งตัวหลังได้รับความนิยมมากกว่า พบว่าการฉีดวัคซีน 3 เข็มบริเวณต้นแขนที่ระยะเวลา 0, 1 และ 6 เดือน ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะก่อให้เกิดภูมิต้านทานได้ ร้อยละ 90-95